การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 6 ของ การรวมราชบัลลังก์

พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ เถลิงราชสมบัติขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษในปี พ.ศ. 2146อังกฤษและสกอตแลนด์พร้อมด้วยมิเนอร์วาและความรัก งานศิลป์เชิงเปรียบเทียบเหตุการณ์การรวมราชบัลลังก์ วาดโดยเปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์

จากปี พ.ศ. 2144 ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 นักการเมืองอังกฤษจำนวนหนึ่ง เช่น เซอร์โรเบิร์ต เซซิล เอกรัฐมนตรีของพระนาง[4] ยังคงติดต่อเป็นการลับกับพระเจ้าเจมส์เพื่อให้การสืบราชสมบัติที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างราบรื่น เซซิลถวายคำชี้แนะแก่พระเจ้าเจมส์ว่ามิควรเร่งเร้าประเด็นการสืบราชบัติกับสมเด็จพระราชินีนาถ แต่ทรงควรที่จะถวายความเมตตาและความเคารพแด่สมเด็จพระราชินีนาถต่อไป[5] ท่าทีดังล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผล เมื่อพระนางเจ้าเอลิซาเบธทรงพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าเจมส์ว่า "ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์มิได้เคลือบแคลงพระทัย หากแต่พระราชหัตถเลขาฉบับท้ายสุดของพระองค์ ข้าพเจ้ารับมันไว้ด้วยความปิติ จนข้าพเจ้ามิอาจเพิกเฉยต่อความรู้สึกขอบคุณเฉกเช่นเดิมได้อีกต่อไป"[6] ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2146 เป็นที่ชัดเจนว่าพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 จวนที่จะเสด็จสวรรคตแล้ว เซซิลดำเนินการร่างคำประกาศอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์อังกฤษของพระเจ้าเจมส์ มีการยกระดับการเฝ้าระวังตามป้อมปราการสำคัญ ๆ ส่วนที่กรุงลอนดอนต่างเต็มไปด้วยทหารราชองครักษ์ พระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 1 เสด็จสวรรคตไม่นานหลังจากล่วงเข้าสู่วันที่ 24 มีนาคม ภายในระยะเวลาแปดชั่วโมงนับจากนั้น พระเจ้าเจมส์ก็ได้รับการประกาศให้เป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษพระองค์ใหม่ ณ กรุงลอนดอน ในขณะที่ข่าวสารการเสด็จขึ้นครองราชย์เผยแพร่ไปทั่วโดยปราศจากความวุ่นวายหรือการประท้วงต่อต้าน[7][8]

ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2146 พระเจ้าเจมส์เสด็จฯ ออกจากเอดินบะระมุ่งสู่ลอนดอน ทรงให้คำมั่นว่าจะเสด็จฯ นิวัตสกอตแลนด์ทุก ๆ สามปี (คำมั่นที่มิทรงสามารถรักษาได้สำเร็จ เนื่องจากเสด็จฯ นิวัตสกอตแลนด์เพียงครั้งเดียวในปี พ.ศ. 2160 นับเป็นระยะเวลาสิบสี่ปีหลังจากเสด็จฯ ออกจากสกอตแลนด์) [7] การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้เป็นไปอย่างเชื่องช้า จากอีกเมืองสู่อีกเมืองหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เสด็จฯ ถึงลอนดอนพอดีกับที่พระราชพิธีศพของพระนางเจ้าเอลิซาเบธเสร็จสิ้นลงพอดี[7] ตลอดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน บรรดาเจ้านายและขุนนางท้องถิ่นถวายการต้อนรับพระองค์อย่างดีเยี่ยม เฉกเช่นเดียวกับพสกนิกรมากมายต่างพากันแห่แหนมาเข้าเฝ้าพระองค์ ทำให้ทรงคลายความกังวลที่ว่าการสืบราชสมบัติของพระองค์จะจุดชนวนความไม่สงบหรือสงครามขึ้น[9] ต่อมาขณะที่กำลังเสด็จฯ เข้าสู่กรุงลอนดอน ฝูงชนจำนวนมหาศาลหลั่งไหลกันมาชื่นชมพระบารมี ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งถึงกับบรรยายเอาไว้ว่า "ท้องทุ่งอันงดงามถูกแทนที่ด้วยมวลมหาชน แก่งแย่งกันเพื่อที่จะชื่นชมพระพักต์กษัตริย์ของตน จนทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย"[10] พิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าเจมส์จัดขึ้นวันที่ 25 กรกฎาคม พร้อมกับคำกล่าวสรรเสริญเชิงอุปมาอุปไมยโดยกวีชาวอังกฤษผู้เลื่องชื่ออย่าง โธมัส เดกเคอร์ และเบน โจนสัน แม้ว่างานเฉลิมฉลองจะถูกจำกัดเนื่องจากการแพร่ระบาดของกาฬโรคก็ตาม[11] ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้คนจำนวนมากต่างก็ยังคงออกมาร่วมเฉลิมฉลองทั่วกรุงลอนดอน ดังเช่นที่เดกเคอร์บรรยายเอาไว้ว่า "พื้นของท้องถนนแปรสภาพไปราวกับถูกปูด้วยฝูงชน ชั้นวางของแทนที่จะเต็มไปด้วยเครื่องตกแต่งราคาแพง กลับถูกแทนที่ด้วยพวกเด็ก ๆ บานหน้าต่างเองก็เต็มไปด้วยสตรีผู้เฝ้าดูการเฉลิมฉลอง"[12]

และแม้ว่าความวิตกกังวัลที่ว่าชาวสกอตกำลังปกครองอังกฤษจะยังคงหลงเหลืออยู่บ้างก็ตาม แต่การเสด็จฯ มาถึงของพระเจ้าเจมส์ได้ปลุกเร้าชาวอังกฤษให้คาดหวังเอาไว้สูง เนื่องจากช่วงท้ายรัชกาลของพระนางเจ้าเอลิซาเบธสร้างความผิดหวังให้กับประชาชนจากคำถามและความกังวัลเกี่ยวกับการสืบราชบัลลังก์ที่บั่นท้อนประเทศชาติให้ตกอยู่ในวังวนของปัญหาอยู่หลายสิบปี พร้อมกับการมาถึงของกษัตริย์พระองค์ใหม่ บุคคลผู้รักครอบครัวและมีรัชทายาทของพระองค์อยู่แล้ว แต่ช่วงเวลาอันสวยหรูของกษัตริย์พระองค์ใหม่นั้นช่างแสนสั้น เนื่องจากพระราโชบายในช่วงต้นจะสร้างผลตอบรับที่ออกมาในเชิงลบ และเปลี่ยนพระเจ้าเจมส์จากพระมหากษัตริย์สกอตแลนด์ผู้ประสบความสำเร็จไปสู่พระมหากษัตริย์อังกฤษผู้น่าผิดหวัง หนึ่งในเหตุผลที่เด่นชัดและใหญ่หลวงมากที่สุดนั่นก็คือข้อกังขาถึงพระราชสถานะและพระอิสริยยศของพระองค์ พระเจ้าเจมส์ทรงพยายามที่จะใช้พระอิสริยยศ พระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ แต่ขวากหนามชิ้นใหญ่ที่ขัดขวางความพยายามนี้ก็คือทัศนคติในรัฐสภาอังกฤษ

พระราชดำรัสแรกที่ทรงมีต่อรัฐสภาแห่งอาณาจักรทางตอนใต้ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2146 ระบุชัดเจนถึงพระราชปณิธานของพระองค์ ดังนี้

สิ่งที่พระเจ้ารวมเข้าไว้ มนุษย์คนใดก็มิอาจแยกมันออกจากกันได้ ข้าพเจ้าคือสวามี ส่วนผืนแผ่นดินทั้งเกาะก็คือมเหสีตามกฎหมายของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าคือศีรษะ ส่วนนางก็คือเรือนร่าง ข้าพเจ้าคือผู้เลี้ยงแกะ และนี่ก็คือฝูงแกะของข้าพเจ้า ฉะนั้นแล้วคงมิมีผู้ใดประสงค์ให้ข้าพเจ้า กษัตริย์คริสเตียนผู้อยู่ต่อหน้าพระกิตติคุณ เป็นสวามีผู้ครองมเหสีสององค์ เป็นบุรุษผู้มีสองร่างแยกออกจากกันเฉกเช่นสัตว์ประหลาด หรือบุรุษเลี้ยงแกะผู้แบ่งฝูงของตนออกเป็นสอง[13]

รัฐสภาอาจจะเห็นด้วยกับพระเจ้าเจมส์ที่ไม่ทรงยอมรับการมีมเหสีสององค์ แต่หากเปรียบการรวมราชอาณาจักรอังกฤษกับราชอาณาจักรสกอตแลนด์เป็นการเสกสมรสดังเช่นที่พระเจ้าเจมส์ทรงเปรียบเปรย ในมุมมองของรัฐสภาอังกฤษ การเสกสมรสดังกล่าวก็คงจะเป็นการเสกสมรสกับสตรีผู้มีศักดิ์ต่ำกว่า ความพยายามของพระเจ้าเจมส์ได้รับเสียงตอบรับที่เฉื่อยชา ขณะที่สมาชิกรัฐสภาคนแล้วคนเล่าต่างพากันลุกขึ้นมาปกป้องชื่อนามและราชอาณาจักรอังกฤษอันเก่าแก่ของตน การคัดค้านด้วยเหตุผลด้านข้อกฎหมายถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างหลายประการ เช่น กฎหมายทุกฉบับที่เคยประกาศใช้จะต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณใหม่ หรือสนธิสัญญาทุกฉบับที่เคยทำไว้กับนานาประเทศจะต้องถูกนำขึ้นมาเจรจาใหม่ เป็นต้น สำหรับพระเจ้าเจมส์ผู้คุ้นชินกับระบบกึ่งรัฐสภากึ่งศักดินาที่มีขั้นตอนการปกครองชัดเจนของสกอตแลนด์ เมื่อต้องมาเผชิญกับความทะนงตนและความดื้อรั้นของระบบรัฐสภาอังกฤษที่เคยต่อกรกับกษัตริย์ผู้ร้ายกาจหลายพระองค์ในอดีตแล้วนั้น นับเป็นความตกตะลึงครั้งใหญ่หลวงของพระองค์ ทรงหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าด้วยการสมมติพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่แต่เพียงฝ่ายเดียวตาม คำประกาศว่าด้วยพระราชฐานันดรศักดิ์ของพระราชา (Proclamation concerning the Kings Majesties Stile) ณ วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2147 ที่ประกาศว่าทรง "สมมติตนด้วยราชสิทธิ์อันบริสุทธิ์ ภายใต้พระนามและพระราชฐานันดรศักดิ์ของ พระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ ฝรั่งเศส และไอร์แลนด์ ผู้พิทักษ์แห่งศรัทธา"[14] หากแต่ยิ่งสร้างความบาดหมางให้เพิ่มมากขึ้น แม้แต่ในสกอตแลนด์เองความพยายามนี้ก็ได้รับความสนใจเพียงน้อยนิด ซึ่งแม้ว่ารัฐสภาของทั้งสองประเทศยินยอมที่จะนำวาระดังกล่าวไปพิจารณาแล้วก็ตาม แต่การพิจารณากลับใช้เวลาหลายสิบปีและไม่มีบทสรุปที่แน่ชัด

ใกล้เคียง